• Home
  • >>
  • meso หน้าใส กับ transamin ต่างกันอย่างไร ??
melasma

meso หน้าใส กับ transamin ต่างกันอย่างไร ??

หลายๆครั้ง ที่เราเห็นโฆษณาตามคลินิกความงามต่างๆ จะมีโปรโมชั่นและของแถมแนะนำให้สำหรับคนไข้ที่มีรอยฝ้ากระจุดด่างดำเป็นการทำ

“สะกิดฝ้า”  “เมโสหน้าใส” และบางแหล่งก็พูดถึงตัวยา “transamin” เข้าหูมาบ้าง

คำว่าเมโส Meso ย่อมาจาก Mesotherapy ซึ่งเป็น “เทคนิกวิธีการฉีด” ตัวยาต่างๆ ลงในผิวหนังชั้นกลาง (Dermis) หรือชั้นผิวหนังแท้นั่นเอง ผิวหนังชั้นนี้ประกอบไปด้วยคอลลาเจน(Collagen) อิลาสติน(Elastin) เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Connective tissue) ที่ช่วงคงความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของผิวหนัง และ hyaluronic acid เมื่ออายุมากขึ้นประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ จะทำให้ระดับคอลลาเจน อิลาสติน และโครงสร้างผิวเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ 

การฉีดยา mesotherapy เข้าไปในจุดนี้ จึงเป็นการบำรุงรักษาโครงสร้างผิวที่เห็นผลค่อนข้างดีและรวดเร็วกว่าการทาที่ผิวหนังชั้นนอก 

ดังนั้น เมโสหน้าใส ก็คือการฉีดยาแบบ Mesotherapy ให้ผิวหน้าใสขึ้น  เป็นคำกว้างๆ ที่ไม่ได้ระบุตัวยาชัดเจน อาจเป็นตัวยาที่ช่วยให้ผิวกลับมาแข็งแรง ยืดหยุ่นได้อีกครั้ง หรือเป็นตัวยาที่ช่วยให้เม็ดสีบนผิวหน้าจางลง หรือช่วยกระชับรูขุมขน ลดเลือนริ้วรอยต่างๆ ก็เป็นได้

การสะกิดฝ้า จึงเป็นคำที่มีการระบุตัวยาที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าเป็นการฉีด Mesotherapy โดยใช้ตัวยาที่ช่วยให้เม็ดสีฝ้ากระบนผิวหน้าจางลง ส่วนตัวยาที่ใช้จะเป็นอะไรนั้น ก็แล้วแต่ผลิตภัณฑ์ของแต่ละสถานพยาบาลจะเลือกใช้  ซึ่ง 1 ในตัวยาที่ได้รับความนิยมเนื่องจากเห็นผลดีในระดับหนึ่งและราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ก็คือ Tranexamic acid (TXA) หรือชื่อทางการค้าก็คือ transamin นั่นเอง

tranexamic acid เดิมใช้รักษาภาวะเลือดออกผิดปกติในโรคต่างๆ เช่น ภาวะระดูมากผิดปกติ (menorrhagia)  โดยยับยั้งกระบวนการสลายไฟบริน (fibrinolysis)  นอกจากนี้  ยา tranexamic acid ยังสามารถยับยั้งการสร้าง PLASMIN ที่กระตุ้นการสร้าง PROSTAGLANDIN (PG) ในผิวหนัง ซึ่งเป็นตัวการทำให้ผิวหนังหมองคล้ำและเกิดฝ้า รวมทั้งลดการสร้าง prohormone covertase (PC2) ทำให้เมื่อผิวหนังถูกกระตุ้นด้วยแสง UV จะผลิตเม็ดสีเมลานินออกมาน้อยลง จึงนำกลไก 2 อย่างนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาฝ้า

ข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยเหล่านี้ ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (subarachnoid hemorrhage) เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองบวม (cerebral edema) และภาวะสมองขาดเลือด (cerebral infarction), ผู้ที่กำลังเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (active thromboembolic disease), ผู้ที่มีประวัติของการชัก, ผู้ที่กำลังมีภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด (active intravascular clotting), ผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิด, ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องรุนแรง และผู้ที่แพ้ยา tranexamic acid หรือส่วนประกอบอื่นในตำรับ

ข้อควรระวังในการใช้ยามีดังนี้ ได้แก่ ปัสสาวะเป็นเลือด (hematuria) มีประวัติของภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ไตทำงานบกพร่องระดับอ่อนถึงระดับปานกลาง ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น, หลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ประเภท Factor IX และระมัดระวังในการฉีดยาเนื่องจากการฉีดผิดพลาดและมีเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางอาจทำให้เกิดอาการชัก